How to ฝึกสติให้มั่นคง เผชิญปัญหาหนักยังคิดบวก

การมีสติ คือ

ความสามารถในการตระหนักรู้สภาวะต่าง ๆ ที่ตนเองเป็นอยู่ในขณะนั้น ๆ ได้ดี สามารถแยกแยะและตอบสนองต่อสิ่งต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อตัวเราได้อย่างเหมาะสม ช่วยให้เผชิญกับปัญหาหรืออุปสรรคต่าง ๆ ได้อย่างราบรื่น อย่างไรก็ดีแม้ว่าสติจะเป็นสิ่งที่มีติดตัว แต่ก็จำเป็นต้องทำการฝึกสติให้มั่นคงเพื่อให้ดำรงสติได้ตลอดเวลา และสามารถนำสติไปปรับใช้ได้กับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตทั้งดีและร้ายได้อย่างเหมาะสม ทั้งยังช่วยเสริมสร้างความมั่นคงทางความคิด และจิตใจให้แข็งแกร่งมากขึ้นอีกด้วย ช่วยส่งเสริมสุขภาพ และมีความสุขในการดำเนินชีวิตให้กับผู้คนได้ โดยการทำกิจกรรมฝึกสติอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ

วิธีการฝึกสติให้มั่นคง

แบ่งได้เป็น 2 แบบหลัก ๆ คือ

  1. การฝึกสติตามรูปแบบที่กำหนดเอาไว้แล้ว เช่นการฝึกกำหนดลมหายใจ การเดินจงกรม สวดมนต์ ฝึกโยคะ หรือรำมวยจีน (ซึ่งเป็นการฝึกทั้งกาย และใจไปพร้อม ๆ กัน) ซึ่งควรใช้เวลาในการฝึกครั้งละไม่น้อยกว่า 30 – 60 นาที หรืออาจฝึกครั้งละหลาย ๆ วัน (เช่นการเข้าค่ายปฏิบัติธรรมเพื่อฝึกสติ เป็นต้น) เพราะคนส่วนมากมักอ้างว่าไม่สามารถทำเป็นประจำทุกวันได้ หรือไม่เข้าใจวิธีการทำต้องอาศัยผู้รู้คอยให้คำแนะนำ
  2. การฝึกสติแบบธรรมชาติ เป็นการฝึกสติในขณะที่ทำกิจวัตรประจำวันไปด้วย เรียกว่าตั้งแต่ตื่นไปจนเข้านอน หรือเรียกอีกแบบหนึ่งว่าฝึกสตั้งในขณะที่กำลังนั่ง นอน ยืน เดิน อาบน้ำ แปรงฟัน กินข้าว ดื่มน้ำ ทำงานบ้าน ขับรถ หรือแม้แต่ขณะที่กำลังนั่งรอทำกิจกรรมอื่น ๆ ก็สามารถทำได้ วิธีการฝึกสติให้มั่นคงนี้สามารถทำได้ทุกวัน วันละหลาย ๆ ครั้ง ผู้ที่ทำได้จะสามารถดำรงสติได้อย่างต่อเนื่อง สามารถเรียกคืนสติเมื่อประสบปัญหาต่าง ๆ ได้ง่าย และรวดเร็ว

วิธีการฝึกสติแบบต่าง ๆ

  1. เวลาตื่นนอน การฝึกสติที่เริ่มได้ตั้งแต่ตื่นนอน ซึ่งจะช่วยให้ช่วงเวลาที่เหลือของวันดำเนินไปได้อย่างราบรื่น สามารถตั้งสติของตนเองไม่ให้เตลิดไปกับสิ่งเร้าต่าง ๆ ได้ง่าย โดยในขณะที่รู้สึกตัวแต่ยังนอนอยู่บนที่นอนให้เริ่มตั้งสติด้วยการสำรวจร่างกาย (Body Scan) โดยนอนหงายราบไปกับที่นอน เหยียดตัวให้ตรง ศีรษะ แผ่นหลัง ท่อนแขน ฝ่ามือ สะโพก ท่อนขาและส้นเท้าสัมผัสกับที่นอนให้มากที่สุด จากนั้นกำหนดจังหวะลมหายใจเข้า – ออกช้า ๆ เพื่อพิจารณาถึงความอบอุ่นของร่างกายทุกส่วนที่สัมผัสกับที่นอน จากนั้นให้หลับตา และตั้งสติรับฟังเสียงต่าง ๆ รอบตัว ใช้เวลาครั้งละประมาณ 5 นาทีเป็นประจำทุกวันก่อนลุกขึ้นจากที่นอน
  2. ขณะรับประทานอาหาร ทุกมื้ออาหารล้วนมีความสำคัญต่อสุขภาพร่างกาย แต่คนเรามักขาดความใส่ใจในขณะรับประทานอาหาร บางคนอาจรับประทานอาหารร่วมกับการทำกิจกรรมอื่น ๆ เช่นการพูดคุยกับเพื่อนฝูง หรือการดูโทรทัศน์ หรือเล่นโทรศัพท์มือถือไปด้วย ทำให้การใช้ประสาทสัมผัสรับรู้รูป รส กลิ่น และรสสัมผัสของอาหารลดน้อยลง ดังนั้นให้ลองใช้วิธีการฝึกสติให้มั่นคง ด้วยการใส่ใจกับสีสัน และกลิ่นของอาหารให้มากขึ้น ใช้สติจดจ่อกับการรับรู้รสชาติของอาหารในมื้อนั้น ๆ เพื่อให้เกิดความรู้สึกพึงพอใจ เกิดความกระชุ่มกระช่วย และความสุข ซึ่งสามารถนำไปใช้กับกิจกรรมอื่น ๆ ตลอดทั้งวันได้เช่นกัน
  3. ขณะทำงาน ก่อนเริ่มทำงานใด ๆ ให้เผื่อเวลาไว้ประมาณ 5 นาที เพื่อใช้ในการตั้งสติ โดยนั่งผ่อนคลายนิ่ง ๆ พร้อมทั้งกำหนดลมหายใจเข้า – ออกช้า ๆ จากนั้นให้กำหนดจุดมุ่งหมายกับตนเองว่ากำลังจะทำงานอะไร และจะสำเร็จในช่วงเวลาใดต่อไปนี้ เมื่อทำงานมาเป็นระยะเวลาหนึ่งและเริ่มรู้สึกว่าไม่มีสมาธิกับงานที่กำลังทำอยู่ ให้หยุดสักพัก เพื่อผ่อนคลายอิริยาบท และดึงสติกลับมา อาจทำได้โดยลุกขึ้นมาเดินช้า ๆ พร้อมตั้งสติไปที่ท่วงท่า และการเคลื่อนไหวร่างกายในแต่ละก้าวเดิน หรือใช้การมองทอดสายตาออกไปนอกหน้าต่าง หรือมองไปยังต้นไม้ สนามหญ้า พลางถึงสีสัน รูปร่าง และการเคลื่อนไหวของต้นไม้ เพื่อให้สามารถตั้งสติกลับมาจดจ่อกับงานที่ทำอยู่ได้มากขึ้น

วิธีตั้งสติในยามทุกข์

วิธีการฝึกสติให้มั่นคงในยามทุกข์จะช่วยให้เราสามารถรับมือกับความทุกข์ได้ดีและสามารถเรียนรู้เพื่อให้ผู้คนก้าวผ่านจากความทุกข์ยากต่าง ๆ ได้ สิ่งที่เป็นตัวกำหนดชะตากรรมนั้นไม่ใช่ความอดทนเพียงอย่างเดียว แต่เป็นความสามารถในการรับมือต่อความเป็นจริง วิธีการเพิ่มความสามารถในการเผชิญกับความทุกข์ยากที่เกิดขึ้นนั้นเป็นสิ่งที่คนเราสามารถพัฒนาให้ดีมากขึ้น จนสามารถช่วยให้เราสามารถผ่านพ้นความทุกข์ยากไปได้ โดยมีวิธีการดังต่อไปนี้

  1. ปรับความคิด การยอมรับความจริงว่าความทุกข์ยากเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เพราะความทุกข์ยากเป็นเรื่องที่สามารถพบได้ทั่วไปในสถานการณ์ต่าง ๆ และเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา อย่างการเผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ การแพร่ระบาดของโรค หรือเรื่องร้าย ๆ ที่เกิดขึ้นกับครอบครัว และเพื่อนฝูง การยอมรับความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นให้ได้ จะช่วยให้สามารถรับมือกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันที่เกิดขึ้นในชีวิตได้ รวมทั้งยอมรับว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เพราะจะช่วยให้เกิดการจดจ่อต่อสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อหาทางรับมือให้ดีขึ้นได้ การสังเกตความคิดให้ดีจะช่วยให้เรามีแนวทางรับมือต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ส่วนมากความคิดในด้านลบจะเป็นความคิดที่ไม่ผ่านกระบวนการที่มีเหตุผล และไม่ทำให้เกิดผลดีต่อการแก้ไขปัญหา และยังสามารถอาจรบกวนต่อการดำเนินชีวิตได้อีกด้วย จึงควรรู้จักปล่อยวางความคิดด้วยการฝึกสติสังเกตรับรู้ลมหายใจที่ปลายจมูก การตั้งสติให้จดจ่อกับลมหายใจจะช่วยให้รู้ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น ช่วยให้สามารถหลุดพ้นจากการครุ่นคิดแต่เรื่องเดิม และทำให้รู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น จากนั้นให้ลองมองโลกในแง่ดีเข้าไว้ เพื่อให้เกิดการปรับตัวต่อความทุกข์ยากที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งเป็นวิธีเรียกสติกลับมาได้อย่างรวดเร็ว
  2. การปรับอารมณ์ ลองพูดระบายความรู้สึกทุกข์ใจออกมา อย่าพยายามเก็บกด หรือปิดกั้นความรู้สึกแย่ ๆ เอาไว้ หากไม่สามารถพูดกับใครสักคนได้ ให้ลองพูดกับสัตว์เลี้ยง ต้นไม้ หรือพูดออกมาคนเดียวดัง ๆ ตามลำพังก็ได้ นับเป็นวิธีที่ช่วยปรับอารมณ์ได้ดีวิธีหนึ่ง ยิ่งหากสามารถหัวเราะเยาะกับความทุกข์ที่เกิดขึ้นได้ แสดงว่าคุณสามารถสร้างภูมิคุ้มกันต่อความเครียด และความทุกข์ยากได้ดีอีกด้วย
  3. การปรับการกระทำวิธีการฝึกสติให้มั่นคงจะช่วยพัฒนาความเข้มแข็งของจิตใจได้ ผู้ที่สามารถควบคุมและจัดการกับปัญหาที่เกิดจากความทุกข์ยากในใจได้ ย่อมสามารถผ่านพ้นความทุกข์ยากได้ดี พร้อม ๆ กับการมองโลกอย่างยอมรับความจริง และมีความเชื่อมั่นว่าเราไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ แล้วเลือกใช้วิธีการตอบสนองต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างเหมาะสมแทน จะช่วยให้สามารถรับมือกับความเครียดในชีวิตได้ดีมากขึ้น พบแนวทางการแก้ปัญหาได้ดีขึ้น และยังสามารถควบคุมเรื่องราวต่าง ๆ ได้ดีขึ้น ช่วยให้เกิดความเครียดน้อยลงอีกด้วย
  4. การแสวงหาความช่วยเหลือ หลายคนอาจเข้าใจว่าการใช้ความเข้มแข็งภายในจิตใจ และวิธีการจัดการตามลำพังจะเพียงพอต่อการก้าวข้ามผ่านความทุกข์ยากในชีวิตได้ แต่บางครั้งปัญหาที่เกิดขึ้นอาจไม่ได้หายไป หรือบางครั้งอาจเกิดปัญหาต่อการฟื้นตัวกลับสู่ภาวะปกติ การแสวงหาความช่วยเหลือจากผู้อื่น โดยเฉพาะผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต หรือมีประสบการณ์ชีวิตจึงมีความสำคัญ และเป็นประโยชน์ต่อการผ่านพ้นช่วงเวลาแห่งความทุกข์ยากได้
  5. การพัฒนาความยืดหยุ่นทางจิตใจ เป็นสิ่งที่คนเราสามารถเรียนรู้ และพัฒนาให้ดีขึ้นได้ตลอดเวลา การฝึกจิตใจให้คุ้นเคยกับการเผชิญความยากลำบากในชีวิต เผชิญกับสถานการณ์ของปัญหา และพยายามพัฒนานิสัยเพื่อเอาชนะอุปสรรค จะช่วยให้สติมั่นคง และสามารถผ่านพ้นสถานการณ์วิกฤติต่าง ๆ ไปได้ด้วยดี เพราะจิตใจที่มั่นคงจะสามารถเยียวยารักษาจิตใจจากความทุกข์ยากได้